วันพุธที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2560

นางกวัก

โดย สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์




นางกวัก

                                                                                                   
ควันธูปลอยกรุ่นก่อนฟุ้งกำจาย คล้ายม่านหมอก...
เผยให้เห็นรูปเคารพหญิงงาม นั่งพับเพียบ ยิ้มแฉ่ง
ข้างขวดน้ำแดงบนหิ้ง
หญิงชราเชื้อสายจีนทำปากขมุบขมิบสวดงึมงำ
โอม ปู่เจ้าเขาเขียว มีลูกสาวคนเดียวชื่อว่านางกวัก
ชายเห็นชายรัก หญิงเห็นหญิงทักถ้วนหน้า
พวกพ่อค้าพานิชพากูไปค้าเมืองแมน
กูจะค้าหัวแหวนก็ได้วันละแสนทะนาน
จะค้าสารพัดการก็ได้กำไรคล่อง กูจะค้าเงินก็ได้เต็มกอง
กูจะค้าทองก็ได้เต็มหาบกลับมาเรือน สามเดือนเลื่อนเป็นเศรษฐี
สามปีเป็นพ่อค้าสำเภา
โอมปู่เจ้าเขาเขียวทรงฤทธิ์ ประสิทธิ์ให้แก่กูคนเดียว สวาหะฯ

สวดจบ แกก็ค่อยๆปีนเก้าอี้
ขึ้นไปปักธูปลงในกระถางเซรามิค
หยิบพวงมาลัยสายริ้บบิ้นคล้องที่มือข้างขวาซึ่งยกทำท่ากวักอยู่
ก่อนยกมือไหว้อย่างศรัทธา

“อาม่า... ทำอะไรอยู่”

ผมถามอย่างชวนคุย ขณะค่อยๆประคองแกลงมาจากเก้าอี้
ที่จริงก็ไม่ได้อยากจะรู้อะไรนักหรอก...

“ไหว้นางฝัก”

สามพยางค์ห้วนๆ ไม่ขาดไม่เกินที่อาม่าตอบ
ผมเงยมองไปบนหิ้ง เห็นตุ๊กตาหญิงงามนั่งพับเพียบเรียบร้อย ผมยาวสลวยประบ่า ยกมือขวาขึ้น
 คล้ายกำลังกวักเรียกใครสักคนอยู่  ที่สำคัญ ริมฝีปากเผยยิ้มละมุนละไม

“เค้าเรียกว่านางกวักไม่ใช่เหรอ อาม่า”
“ก็นางฝักไง... ไอ้ฟาย...”

ผมถึงบางอ้อ เมื่อได้ยินอาม่าให้พรตั้งแต่เช้า

“นางกวักเป็นใครเหรออาม่า ?”
อาม่ามองหน้า คงนึกด่าในใจ...ถามอะไรไม่เข้าท่า…

“อั๊วก็ไม่รู้เหมือนกัน”
แกตอบกระแทกเสียงอย่างหงุดหงิด

“อ้าว... อย่างนี้อาม่าก็ไหว้คนแปลกหน้าน่ะสิ”
“..............”

อาม่าประสาทพรอีกยกใหญ่ แต่เอามาเล่าไม่ได้
เดี๋ยวจะไม่ศักดิ์สิทธิ์
ผมเดินออกจากบ้าน ด้วยความรู้สึกที่ยังค้างคา...

นางกวักเป็นใคร ?

ผมตัดสินใจไปที่ร้านหนังสือแถวๆบ้าน
กะว่าจะหาหนังสือมาอ่านแก้กลุ้มซะหน่อย

ที่ร้านหนังสือ... วันนี้คนน้อยเป็นพิเศษ   ผมเพิ่งจะสังเกตว่าที่ร้านหนังสือก็มีนางกวักกับเขาเหมือนกัน
 นางกวักห่มสไบสีแดงสด ตั้งอยู่บนหิ้ง หลังแคชเชียร์  ซึ่งมีเจ๊เจ้าของร้านนั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่อย่าง  ไม่ค่อยจะสนใจว่าใครจะเดินเข้า เดินออกจากร้านบ้าง ผมตรงไปที่ชั้นหนังสือที่ เขียนว่า โหราศาสตร์  ยุคนี้ สมัยนี้ อะไรๆก็ไม่แน่นอน ขอที่พึ่งยึดเหนี่ยวจิตใจไว้ก่อนดีกว่า

รายชื่อหนังสือมีตั้งแต่...
ทายนิสัยท่านจากวัน เดือน ปี เกิด...
เลขบัตรประชาชน...
ทะเบียนรถ...
บ้านเลขที่...
อาหารจานโปรด...
สัตว์เลี้ยงที่ชื่นชอบ...
ฯลฯ
      สารพัดสารเพเกจิ อาจารย์ เยอะแยะไปหมด  
      ผมลองคิดเล่นๆ...
      หากยังไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร แล้วคนอื่นจะรู้ได้อย่างไรกัน...
      สายตาผมสะดุดที่หนังสือเล่มหนึ่ง...
ที่หน้าปกเขียนว่า
‘วัตถุมงคล เครื่องราง ของขลัง บันดาลโชค’
ผมหยิบขึ้นมาเปิดที่หน้าสารบัญทันที
หนังสือเล่มนี้รวบรวมเรื่องราวของวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังไว้มากมาย
ตั้งแต่ปลัดขิก... กุมารทอง... ฮก ลก ซิ่ว... จตุคามรามเทพ...
กวนอู... ชูชก... และนางกวัก

      นางกวักเหรอ?
      ผมตวัดสายตากลับไปอ่านอีกครั้ง   แล้วรีบพลิกไปที่หน้านางกวัก
      จะได้รู้จักกันเสียที ว่าผู้หญิงคนนี้เป็นใคร ?

      ย้อนหลังกลับไปสมัยต้นพุทธกาล กว่าสองพันปีมาแล้ว...

นางกวักที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนี้ เดิมเป็นสาวชาวบ้านธรรมดา นามว่า สุภาวดี นิวาสสถานเดิมอาศัย  อยู่ที่นครสาวัตถี ประเทศอินเดียโน่น พ่อแม่ของนางก็มิได้มีฐานะร่ำรวยอะไร
ประกอบอาชีพค้าขายเล็กๆน้อยๆ  ตอนแรกก็เริ่มวางขายที่เรือนหน้าบ้านก่อน ต่อมาก็ค่อยๆขยับขยาย กิจการ  นำสินค้าใส่เกวียนแล้วเร่ขายเป็นกองคาราวานไปตามหัวเมืองต่างๆ บางครั้งนางสุภาวดีก็นึก สนุกขอติดตามพ่อไปขายของยังต่างเมืองด้วย เรียกได้ว่านางสุภาวดีมีสายเลือดแม่ค้าเข้มข้นเลยที เดียว  มิน่าล่ะ... พวกพ่อค้าแม่ค้าถึงได้นิยมบูชากัน
      วันหนึ่ง  ขณะที่นางสุภาวดีติดสอยห้อยตามพ่อไปตระเวนค้าขายกับกองคาราวานนั้น นางได้พบกับ พระกุมารกัสสปะเถระ  พระภิกษุผู้มีบารมีสูงส่ง ได้รับการยกย่องว่ามีวาทะอันวิจิตรไพเราะและทำคุณ ประโยชน์  พระกุมารกัสสปะเถระได้แสดงธรรมเทศนาให้นางสุภาวดีฟัง จนนางเกิดความเลื่อมใสศรัทธา และเข้าถึงหลักธรรมอย่างลึกซึ้ง
ท่านได้ประสาทพรให้แก่นางและครอบครัวว่า...

“จงเจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ด้วยทรัพย์สิน
เงินทองจากการค้าขายสมความปรารถนาเถิด”
      
      หลังจากนั้น ไม่ว่าครอบครัวของนางสุภาวดีจะไปค้าขาย ณ ที่แห่งหนตำบลใดก็ไม่เคยขาดทุนเลย สักครั้ง มีแต่กำไรหลั่งไหลเข้ามาทุกทีไป
     ต่อมา นางสุภาวดีได้ฟังธรรมเทศนาจากพระสิวลีเถระเจ้า ซึ่งถือเป็นพระมหาสาวกที่บวชในสำนัก  พระสารีบุตร และมีบุญญาธิการสูงอีกรูปหนึ่ง เนื่องจากท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็น  เอตทัคคะ หรือเป็นผู้ยอดเยี่ยมในทางมีลาภมาก พระสิวลีท่านเห็นว่านางสุภาวดีเป็นคนดี 
ขยันทำมาหากิน และยังมีจิตใจฝักใฝ่กุศล มุ่งมั่นหาความรู้ทางธรรม จึงได้ให้พรแก่นางเช่นเดียวกันกับ
พระกุมารกัสสปะเถระ  คือให้นางค้าขายร่ำรวยสมดังใจหมายนั่นเอง เรียกได้ว่านางสุภาวดีได้รับพรสองชั้น โชคดี  สองต่อ มีพระเถระผู้มีบุญญาบารมีสูงยิ่งให้พรเพื่อช่วยให้ค้าขายคล่อง ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเพียงเวลาไม่นาน ครอบครัวของนางสุภาวดีก็ร่ำรวยจนถึงขั้นเป็นเศรษฐี ไม่ใช่ว่าจะนั่งกินนอนกินเพียงอย่างเดียว แล้วเงินจะไหลเข้ามาแต่เพราะครอบครัวของนางตระเวนขายของด้วยเกวียนตามเมือง
ต่างๆอย่างขยันขันแข็ง ประกอบกับได้พรจากพระท่าน จึงเป็นกำลังใจและแรงเสริมส่งให้มีฐานะมั่งคั่งได้จนกลายเป็นเศรษฐีอันดับต้นๆของแคว้นเลยทีเดียว ด้วยความที่พ่อของนางสุภาวดีตระหนักดีว่า
ทุกวันนี้ที่ตนร่ำรวยขึ้นมาได้ ก็เพราะขยันทำมาหากินทางหนึ่งและได้รับพรอันประเสริฐจากพระเถระท่านอีกทางหนึ่ง จึงคิดจะตอบแทนถิ่นเกิดด้วยการนำเกวียนช่วยขนส่งคนที่จะเดินทางไปยังเมืองที่ตนไปค้าขาย ส่วนนางสุภาวดีนอกจากจะร่ำรวย มีความเป็นอยู่ดีขึ้นแล้ว นางยังเป็นที่เคารพนับถือจากชาวเมืองทั่วไป เพราะนางถือเป็นอภิชาตบุตร หรือบุตรที่มีบุญสูงส่งช่วยให้พ่อแม่เจริญรุ่งเรือง คนทั่วไปยังเชื่ออีกว่านางสุภาวดีมีพลังอำนาจ มีความขลังศักดิ์สิทธิ์ในทางค้าขาย หากศรัทธานางแล้วพวกตนก็จะมีชีวิตที่ดี ประสบความสำเร็จที่สำคัญคนที่มีอาชีพค้าขายก็จะพลอยร่ำรวยไปด้วย หลังจากที่นางสุภาวดีสิ้นอายุขัยลง ด้วยผลบุญที่นางได้เคยสร้างไว้เมื่อครั้งยังเป็นมนุษย์ จึงทำให้นางได้ไปเกิดบนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา และได้เป็นธิดาบุญธรรมของปู่เจ้าเขาเขียว เทพผู้ดำรงตำแหน่งเป็นท้าวพนัสบดีคือเจ้าแห่งป่าเขาลำเนาไพรทั้งปวง ปู่เจ้าเขาเขียวผู้นี้มีสหายเป็นอสูรตนหนึ่ง นามว่าท้าวอุณาราช
ท้าวอุณาราชเป็นยักษ์พาลเกเร จึงถูกพระรามใช้ต้นกกมาทำเป็นคันศรแล้วแผลงไปสังหาร
ศรต้นกกของพระรามแผลงไปถูกทรวงอกของท้าวอุณาราชเข้า และตรึงร่างติดกับเขาพระสุเมรุ แล้วสาปว่า...

ตราบใดที่บุตรของท้าวอุณาราชทอใยบัวเป็นจีวร
เพื่อถวายแด่พระศรีอริยาเมตไตรยที่จะเสด็จมาตรัสรู้แล้วจึงจะพ้นคำสาป
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ท้าวอุณาราชเลยมีอีกสมญาหนึ่งว่า...
ท้าวกกขนาก
   เรื่องจึงร้อนถึง นางนงประจันต์ ธิดาคนเดียวของท้าวกกขนาก ที่ต้องอยู่คอยปฏิบัติพัดวีป้อนข้าวป้อนน้ำให้พระบิดา และพยายามทอจีวรด้วยใยบัวเพื่อให้เสร็จทันถวายพระศรีอาริยเมตไตรยที่จะเสด็จมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต ศรที่ตรึงร่างของท้าวกกขนากอยู่นั้นจะเขยื้อนออกทุกๆ ๓ ปี
หนุมานจึงใช้ให้ไก่แก้วอยู่คอยเฝ้าไว้ โดยสั่งว่าเมื่อไรก็ตามที่เห็นศรกกขยับเขยื้อนจวนจะหลุดออกให้ไก่แก้วส่งเสียงขันขึ้น หนุมานก็เหาะมาตอกศรให้แน่นดังเดิมนางนงประจันต์สืบทราบรู้มาว่าศรศักดิ์สิทธิ์ของพระรามนี้ มีเคล็ดวิธีถอนออกง่ายๆโดยใช้น้ำส้มสายชูราด! นางนงประจันต์จึงแปลงร่างเป็นสาวสวยมาซื้อน้ำส้มสายชูในตลาดแต่ชาวบ้านรู้ทัน ว่าเป็นนางนงประจันต์จำแลงมาจึงไม่ยอมขายให้ ธิดาของท้าวอุณาราชเห็นหมดหนทาง จึงต้องกลับไปนั่งทอจีวรใยบัวต่อไป นางนงประจันต์ต้องอยู่คอยดูแลรับใช้พระบิดาอยู่ที่เขาพระสุเมรุนั้นด้วยความลำบากยากแค้นแสนสาหัส เนื่องจากชาวบ้านต่างพากันรังเกียจที่นางมีพ่อเป็นยักษ์ นางนงประจันต์ผู้น่าสงสารจึงได้แต่ระบายความโทมนัส คับแค้นออกมาเป็นเพลง ระคนเสียงร่ำไห้โหยหวนทุกคืนวันเพ็ญ

  ฝ่ายปู่เจ้าเขาเขียว เมื่อทราบเรื่องเข้าก็รู้สึกสงสารท้าวอุณาราชผู้เป็นสหายยิ่งนัก จึงได้ส่งนางสุภาวดีให้มาอยู่เป็นเพื่อน คอยช่วยเหลือนางนงประจันต์และท้าวอุณาราช ด้วยบุญฤทธิ์ของนางสุภาวดี จึงได้บันดาลให้พ่อค้าวานิช และผู้คนเกิดความเมตตาสงสารพากันเอาทรัพย์สินเงินทอง อาหารการกิน พร้อมทั้งเครื่องใช้ไม้สอย มามอบให้นางนงประจันต์เป็นจำนวนมาก ทำให้นางนงประจันต์มีเป็นอยู่สุขสบายขึ้นและสามารถทอผ้าจีวรใยบัวได้ต่อไป...
ตำนานของนางกวักจบลงที่ตรงนี้ !

คราวนี้ กลับไปบอกอาม่าได้แล้วว่านางกวักเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ผมกวาดสายตาอ่านไล่ลงมาเรื่อยๆ
มีข้อความเน้นตัวหนาเขียนว่า...
การบูชานางกวักอย่างถูกวิธี
นั่นสินะ... ต้องบูชาอย่างไรกันแน่ ?

   แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมานับสองพันปี แต่ความเชื่อและศรัทธาในตัวนางสุภาวดีมิได้ลดเลือนจางหายไปเลย มีผู้คิดประดิษฐ์แกะสลักรูปนางสุภาวดีไว้สักการะบูชา เพื่อขอให้นางช่วยในการค้าขายให้เจริญรุ่งเรือง เหมือนกับที่นางและครอบครัว ร่ำรวยเพราะการทำมาค้าขายนั่นเอง และก็เป็นที่อัศจรรย์ ว่าผู้ที่นำรูปปั้นของนางไปบูชาโดยเฉพาะร้านค้าก็มักประสบ ความสำเร็จขายดิบขายดีจนเป็นที่กล่าวขานสืบมาต่อมา เมื่อพราหมณ์จากอินเดียได้เดินทางมายังดินแดนสุวรรณภูมิก็ได้ นำคติความเชื่อ ในการปั้นรูปของนางสุภาวดีหรือนางกวักนี้มาด้วย โดยในตอนแรกนิยมทำรูปแม่นางกวักทั้งแบบท่านั่งและท่ายืนโดยรูปท่านั่งเลียนแบบมาจากการที่นางนั่งขายของในเกวียน ส่วนท่ายืนก็เลียนแบบมาจากการยืนขายของนั่นเอง แต่ที่สำคัญที่สุดคือจะต้องทำมือในลักษณะกวักเรียกลูกค้าทั้งสิ้น และเมื่อปั้นเป็นรูปแล้วก็ปลุกเสก บ้างก็แจกให้คนรู้จัก และบ้างก็จำหน่ายให้พ่อค้าแม่ขาย สมัยก่อนเชื่อกันว่า ถ้าผู้ใดอยากจะเจริญด้วยโชคลาภ ร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง อุดมด้วยเมตตามหานิยม

กิ่งมะเดื่อชุมพร (เครดิตรูปภาพจาก : https://pixabay.com)

   ท่านให้คัดสรรเลือกเอากิ่งมะเดื่อชุมพรที่ชี้ไปทางทิศตะวันออกเอา มาแกะเป็นรูปนางกวัก สาเหตุที่ต้องใช้กิ่งมะเดื่อชุมพรก็เพราะว่า มะเดื่อเป็นไม้มงคลดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับคติความเชื่อ และประเพณีของคนไทยมาแต่โบราณ มีหลักฐานบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ว่า มีการนำไม้มะเดื่ออุทุมพรมาทำเป็นพระที่นั่ง กระบวยตักน้ำมันเจิมถวาย หรือแม้แต่ในพระราชพิธีราชาภิเษกหม้อน้ำที่กษัตริย์ใช้ถวายน้ำก็ทำด้วยไม้มะเดื่ออุทุมพร ก่อนที่จะขึ้นไปตัดกิ่งมะเดื่อลงมา ก็ต้องมีพิธีกรรมเสียก่อน ใช่ว่าจะตัดฟันกันส่งเดช ต้องตรวจดูหาฤกษ์งามยามดี ก่อนที่จะปีนขึ้นไปตัดกิ่งมะเดื่อลงมานั้นจะต้องทำพิธีบังสุกุล ตัวเองเสียก่อน จัดหากล้วย อ้อย ธูปเทียน ข้าวตอก ดอกไม้ เอาไปบูชาให้จงดี แล้วจึงขึ้นไปพลีเอาลงมาก่อนแกะสลักนางกวัก ผู้แกะก็ต้องนุ่งขาวห่มขาว สามทานศีลแปดเสียก่อนแล้วจึงลงมือแกะสลัก เคล็ดสำคัญคือต้องแกะให้แล้วเสร็จในวันเดียว ตั้งบายศรีและเครื่องบัตรพลี ปลุกเสกพุทธเพทพระเวทมนตร์ ร่ายคาถาที่ตัวนางกวัก จนครบ ๑๐๘ คาบ เชื่อกันว่า นางกวักให้คุณทางเมตตามหานิยม และเจริญด้วยโชคลาภ ค้าง่ายขายคล่อง เจรจาดีนัก ความศักดิ์สิทธิ์และอิทธิฤทธิ์ของแม่นางกวักจึงประจักษ์เรื่อยมา แม้ว่าในปัจจุบัน รูปเคารพนางกวักจะเป็นพลาสติก ไฟเบอร์กลาส หรือปูนปลาสเตอร์ มิได้ใช้ไม้มะเดื่อชุมพรแกะสลักเหมือนแต่ก่อน แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของนางกวักก็มิได้คลายความเข้มขลังลงแต่อย่างใด...จึงไม่น่าแปลกใจ ที่ตามตึกรามบ้านช่อง ร้านรวง บริษัทสำนักงานต่างๆจะมีนางกวักเป็นวัตถุมงคลเอาไว้บูชาเพื่อเรียกลูกค้า ให้พบเห็นจนชินตา...


แมวมาเนกิ เนโกะ  (เครดิตรูปภาพจาก : https://pixabay.com/th/maneki)

   เคยได้ยินมาว่าที่ญี่ปุ่นก็มีนางกวักเหมือนกันแต่นางกวักของเขานั้นเป็นแมว !เรียกกันว่า มาเนกิ เนะโกะ เป็นแมวหน้ากลม ตาโตสีขาวน่ารักน่าชัง หูค่อนข้างตั้ง นั่งตัวตรงยกขาหน้าข้างหนึ่งขึ้นกวักเรียกหากยกขาซ้าย เชื่อว่าเป็นการเรียกลูกค้า หากยกขาขวาเชื่อว่าเป็นการเรียกเงินทองให้ไหลมาเทมา ส่วนขาหน้าอีกข้างจะถือเหรียญทองเอาไว้เป็นเครื่องรางเรียกทรัพย์เหมือนนางกวักของเรานั่นแหละ...
ทำไมต้องเป็นแมวกวัก ? หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมไม่เป็นสัตว์ชนิดอื่น อย่าง หมีแพนด้า นกฟลามิงโก้ หรือฮิปโปแคระ ฯลฯ ...

   มีตำนานเล่ากันว่า ที่ประเทศญี่ปุ่น มีหญิงนางหนึ่งชื่อ ยูสุกุโม เธอเลี้ยงแมวไว้เป็นเพื่อนเล่นคลายเหงาตัวหนึ่ง วันหนึ่งแมวของเธอได้แสดงอาการผิดแปลก คือไม่ว่าเธอจะไปทางไหนมันจะตามไปด้วยเสมอและไม่ได้ตามไปเฉยๆ แต่ทั้งดึงทั้งกัดเสื้อผ้าของเธอ พอดีแฟนหนุ่มของเธอมาเห็นเข้า ก็พยายามไล่ให้ไปให้พ้นๆ แต่แมวก็ยังเกาะนายสาวแน่น ทำให้เขาโกรธมาก ชักดาบออกมาฟันแมวเสียคอขาดกระเด็น !แต่ในขณะที่คอแมวขาดนั้น แทนที่จะนอนตายตามบุญตามกรรม หัวแมวกลับกระเด็นขึ้นไปบนเพดานและคาบเอางูตัวใหญ่ตัวหนึ่งหล่นลงมาด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้สองหนุ่มสาวต่างพากันสำนึกได้ว่าการที่แมวคอยตามนายสาวแจนั้นก็เพื่อจะเตือนให้ระวังงูนั่นเอง แต่ไม่มีใครเข้าใจ ยูสุกุโมเสียใจอาลัยรักแมวของเธอมาก เธอได้ทำฮวงซุ้ยให้แก่เจ้าแมวผู้ซื่อสัตย์ของเธอ แต่ก็ยังไม่วายที่จะคิดถึงเจ้าแมวตัวนั้นอยู่

   ต่อมา มีนักแกะสลักคนหนึ่งเห็นเธอเศร้าโศกเสียใจนัก จึงได้สลักไม้เป็นรูปแมวให้เหมือนตัวจริงโดยทำเป็นรูปแมวยกขาข้างซ้ายขึ้นแตะที่หู ปรากฏว่าเธอพอใจเจ้าแมวไม้สลักตัวนี้มาก เธอเล่นกับมันและให้อาหารเป็นการเซ่นสังเวยทุกวัน รูปแมวสลักในท่านี้จึงมีชื่อเสียงนับตั้งแต่นั้นมา และได้กลายเป็นมาเนกิ เนะโกะหรือแมวกวักอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนั่นเอง...

   พลัน ผมก็รู้สึกถึงเงาอะไรบางอย่าง ตะคุ่มๆอยู่ข้างหลัง ! ผมหันขวับไปทันที
คุณพระช่วย !
เจ๊ เจ้าของร้านแกยืนเท้าสะเอวอยู่ข้างหลังผม
มองเขม้นมาอย่างอาฆาตมาดร้าย...
“จะซื้อหรือไม่ซื้อ ยืนอ่านอยู่นั่นแหละ!”
ให้ตายเถอะ...
   สีหน้าท่าทางของแกชวนให้ผมหลงคิดไปว่ากำลังทำผิดฐานฆ่าคนตายอยู่ ผมได้แต่ยกมือไหว้ปะหลกๆ ขอสมาในโทษานุโทษที่ได้กระทำล่วงเกินไป และตั้งใจว่าจะไม่หวนกลับมาที่ร้านนี้ให้ระคายเคืองนัยเนตรเจ๊แกอีก
ก่อนเดินออกจากร้าน...
ผมหันไปมองนางกวักที่ห่มสไบสีแดงสด ตั้งอยู่บนหิ้ง
หลังแคชเชียร์ เป็นครั้งสุดท้าย
นางกวักยังคงยิ้มแฉ่งอยู่เช่นเดิม ผิดกับหน้าเจ๊แกเวลานี้
ผมถอนลมหายใจหนักๆ ก่อนหันหลังเดินจากไป...
ถ้าหน้าเป็นตวัก ต่อให้มีสิบนางกวักก็คงช่วยไม่ได้ !



Cover llustration By Kamonwan Srichalongrat
Facebook : Kamonwan Srichalongrat

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น