วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560

แปลง ‘สื่อ’ เปลี่ยน ‘สาร’ : การแปรรูปนวนิยาย “บ้านทรายทอง” สู่วรรณกรรมการแสดง


โดย  สรรัตน์  จิรบวรวิสุทธิ์



แปลง สื่อเปลี่ยน สาร’ : การแปรรูปนวนิยาย “บ้านทรายทอง” สู่วรรณกรรมการแสดง
         
   เนื่องจากสื่อแต่ละสื่อจะมีเอกลักษณ์เฉพาะสื่อ ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนสื่อ เนื้อหาในสื่อดังกล่าวก็จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเพื่อความเหมาะสม เช่น สื่อนวนิยายเป็นสื่อที่แสดงด้วยวัจนภาษาเพียงประการเดียว แต่สื่อการแสดงประเภทอื่นๆ อย่างภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์จำเป็นต้องใช้ภาพ เสียง และแสง สร้างอารมณ์ต่างๆให้เกิดขึ้น การแสดงจึงไม่จำกัดแต่เพียงวัจนภาษาเท่านั้น แต่อวัจนภาษาก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะบอกเรื่องราว ความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของตัวละครให้ผู้ชมได้ทราบ
สื่อที่มีลักษณะแตกต่างกันย่อมมีวิธีการเสพที่แตกต่างกันด้วยเพราะสื่อนวนิยายเป็นรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ที่สามารถเลือกเสพได้ตามความต้องการ แต่สื่อการแสดงประเภทอื่นๆ อย่างเช่นละครโทรทัศน์เป็นสื่อที่ดำเนินเรื่องไปตามเวลาที่สถานีกำหนด ผู้ชมไม่สามารถเลือกได้ว่าจะดูตอนจบก่อน ดังนั้นสื่อประเภทนี้จึงเป็นสื่อที่ต้องมีการติดตาม จึงจะสามารถเข้าใจเรื่องได้
   การเชื่อมโยงเนื้อหาที่ต้องใช้เป็นหลักคือการเล่าเรื่องและการนำเสนอประเด็นหรือ “สาร” ตามที่แสดงอยู่ในต้นฉบับให้ปรากฏในตัวบทอันใหม่ ซึ่งได้แก่การนำเนื้อเรื่องของนวนิยายไปสร้างเป็นภาพและเสียงเพื่อสื่อสารเนื้อหาในนวนิยาย
ตามหลักการของสัมพันธบท (Intertexuality) กล่าวไว้ว่าเมื่อมีเนื้อหาเกิดขึ้นมาใหม่นั้น ต้องมีเนื้อหาเดิมที่เคยได้กล่าวไว้แล้ว แต่อย่างไรก็ตามในการนำมากล่าวถึง อ้างถึง หรือเขียนถึง ก็จะมีรูปแบบใหม่ตามเนื้อหาที่หยิบมาพูดในครั้งใหม่ เช่นเดียวกับนวนิยายและละครโทรทัศน์นั่นคือสื่อทั้งสองประเภทต้องมีการรักษาขนบเดิม (Convention) และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้น (Invention)[1]

นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ได้พูดถึงการดัดแปลงงานวรรณกรรมเพื่อการอ่านมาเป็นวรรณกรรมเพื่อการแสดงว่า “การนำเอานวนิยายมาทำละครนั้น คือการเปลี่ยนวิธีแสดงออกจากตัวอักษรมาเป็นการแสดง งานศิลปะทั้งสองอย่างนี้มีกลวิธีที่แตกต่างกันมาก ใครทำละครไปตามหนังสือแต่ละบรรทัดก็จะได้ละครที่ห่วยแตกออกมา ฉะนั้นผู้เขียนบท, ผู้กำกับ, นักแสดง, คนกำกับฉาก, กำกับเสียง,ฯลฯ จึงต้องร่วมมือกันสร้างงานที่มีฐานจากนวนิยายด้วยกลวิธีที่ดีที่สุดของศิลปะการละคร”[2]




          [1] กาญจนา  แก้วเทพ. การวิเคราะห์สื่อ แนวคิดและเทคนิค. กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2552. หน้า 152.
          [2] นิธิ  เอียวศรีวงศ์. บ้านทรายทอง. มติชนสุดสัปดาห์ 20, 1020 (7 มีนาคม 2543), หน้า 47.


ดังนั้นการแปลงเรื่อง“บ้านทรายทอง” ออกมาเป็นรูปแบบอื่นๆ จึงไม่จำเป็นจะต้องตรงกับนวนิยาย อาจต้องตัดตัวละคร หรือเพิ่มตัวละครเข้าไป หรือจำเป็นต้องตัดหรือเพิ่มฉากบางตอนเข้าไป หรือปรับเปลี่ยนอะไรก็ได้เพื่อให้ “บ้านทรายทอง” ปรากฏออกมาในรูปแบบของศิลปะการละครที่ดีที่สุด

ผู้ผลิตละครอาจจะเลือกหยิบแง่มุมที่แตกต่างออกไปมานำเสนอ เช่น การสร้างละครเรื่อง “บ้านทรายทอง” ของวรายุฑ  มิลินทจินดา ผู้ผลิตละครซึ่งมีความตั้งใจที่จะจับประเด็นของพจมานตระหนักว่าตนเองเป็นเจ้าของบ้านทรายทองเป็นประเด็นหลักของเรื่อง ดังนั้นความสำคัญของเรื่องจะเน้นที่ความเชื่อมั่นของพจมานมากกว่าเดิม[1]

แม้กระนั้นก็ยังมีอะไรบางอย่างของนวนิยายที่ผู้ทำละครไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น แก่นเรื่อง แนวคิดหลักของเรื่อง บุคลิกตัวละครที่เสริมแนวคิดหลัก เป็นต้น เพราะถ้าหากเปลี่ยนแปลงแล้วอาจทำให้ผู้ชมผิดความคาดหวัง และส่งผลกระทบต่อความนิยมของผู้ชมได้

การแปรรูปนวนิยายเรื่องบ้านทรายทองเป็นวรรณกรรมเพื่อการแสดงประเภทต่างๆจึงมีองค์ประกอบทั้งที่เหมือนและแตกต่างไปจากนวนิยายต้นฉบับของก.สุรางคนางค์ ดังนี้
1.        แก่นเรื่อง (Theme)
แก่นเรื่อง (Theme) หมายถึง สิ่งที่เป็นแกนในการดำเนินเรื่องของละคร เป็นตัวควบคุมทิศทางของการดำเนินเรื่องให้อยู่ในแนวคิดเดียวไปตลอดตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง[2]
การดัดแปลงนวนิยายให้กลายเป็นวรรณกรรมเพื่อการแสดงประเภทอื่นๆนั้น ผู้เขียนจะต้องดัดแปลงแก้ไข เพิ่มเติมในบางส่วน และคงไว้ซึ่งสิ่งสำคัญอันเป็นแก่นของต้นฉบับเดิม สมสุข  กัลย์จาฤก กล่าวถึงการดัดแปลงนวนิยายให้เป็นบทละครโทรทัศน์ว่า
“การดัดแปลงนวนิยายเป็นบทละครโทรทัศน์ ถ้าจะให้ตรงหนังสือเลยเป็นไปไม่ได้ คนที่ลงมือทำจะรู้ว่า ที่จะให้ตรงเหมือนในหนังสือทั้งหมดนี่ไม่ได้ แต่เรารู้ว่า Plot ของเขานี่มีอะไรเป็นแก่นเรื่อง จุดสำคัญของเรื่องคืออะไร เราเพิ่มเติมได้โดยอยู่ในกรอบของเขา แก่นของเรื่องต้องคงไว้ แต่รายละเอียดต้องเพิ่มเข้าไปแน่นอน เพราะบางครั้งหนังสือเล่มนิดเดียวทำละครตอนหนึ่งก็จบแล้ว แต่เราต้องทำตั้ง 20 ตอน เจ้าของบทประพันธ์ต้องทราบเลยว่า เราจะต้องเพิ่มเติมอย่างแน่นอนแล้วก็มีเหมือนกันที่บางที บางเรื่องไม่มีเหตุผลเลย เราก็สามารถทำให้เรื่องมีเหตุผลขึ้นได้”[3]



               [1] ปิยะพิมพ์  สมิตดิลก. การเชื่อมโยงเนื้อหา “นวนิยาย” ในสื่อสิ่งพิมพ์และในสื่อละครโทรทัศน์. วิทยานิพนธ์ภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,2541. หน้า 2.
               [2] เอกสารการสอนชุดวิชาการสร้างสรรค์รายการโทรทัศน์ สาขาวิชานิเทศสาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช หน่วยที่ 6-10. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2550. หน้า 81.
               [3] สมสุข  กัลย์จาฤก, “ศิลปะการเขียนบทละครโทรทัศน์โดย สมสุข  กัลย์จาฤก, “บรรยายพิเศษแก่นิสิตนิเทศศาสตร์ชั้นปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 9 มกราคม 2541.

จากเนื้อหาของเรื่อง “บ้านทรายทอง” สามารถวิเคราะห์ได้ว่าการทำดีของนางเอก พระเอก เป็นการปฏิรูปชนชั้นนำและการได้ดีซึ่งจรรโลงใจคนอ่านนั้นส่วนหนึ่งเป็นอิทธิพลค่านิยมเกี่ยวกับความสำเร็จในชีวิตคน โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งมีค่านิยมยกย่องการได้แต่งงานกับผู้ชายสูงกว่าทั้งฐานะ ชาติตระกูล และคุณสมบัติ เพื่อที่จะได้มีผู้ปกป้อง และเป็นผู้นำให้แก่ชีวิตครอบครัว  

แก่นเรื่องหลักของ “บ้านทรายทอง” ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมเพื่อการแสดงรูปแบบใด หรือยุคสมัยใด จึงไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก อยู่ที่การสร้างความหวังทั้งในเสถียรภาพของหลักการที่คนทำดีแล้วได้ดี กับการที่ความดีและการทำดีของคนๆนั้นได้ปรับปรุงแก้ไขให้ทุกสิ่งดีขึ้น หรือจะกล่าวว่าเป็นการประนีประนอมระหว่างความขัดแย้งหลักการกับค่านิยมก็ได้[1]

การที่พจมานแต่งงานกับภราดาเท่ากับพจมานเข้าร่วมในสังคมชนชั้นกดขี่ที่ล้มเหลวเสื่อมทราม เพื่อประนีประนอมในหลักการ จึงให้การรวมของพจมานมีเงื่อนไขว่าบทบาทของเธอมีผลผลักดันความเสื่อมทรามให้สลายตัวและความดีของนางเอกคือสุจริต จริงใจ รักเกียรติ รักความเป็นธรรม นั้นจะหนุนช่วยพระเอกซึ่งเป็นแกนแท้ของชนชั้น หรือพระเอกหนุนช่วยเธอให้อำนวยสุข บำบัดทุกข์ หรือเป็นหลักความถูกต้องต่อไป
            สิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงในการดัดแปลงนวนิยายมาเป็นวรรณกรรมการแสดงประเภทอื่นนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสม อาจเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่อง เรียงลำดับเหตุการณ์เสียใหม่ หรือเพิ่มเติมเหตุการณ์บางอย่างเข้าไป ทั้งนี้ต้องไม่ให้ผิดแผกไปจากแก่นเรื่องเดิม

2.        โครงเรื่อง
        โครงเรื่องถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสรรค์วรรณกรรมการแสดงหรือบทละคร ดังที่เพลินตาได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงเรื่องในหนังสือโรงเรียนนักเขียนไว้ว่า
 “โครงเรื่องเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่เพียงกระบวนการอันเป็นเครื่องมือของนักเขียน โครงเรื่องมีความสำคัญสูงสุดในการสื่อความหมายของการเขียน ก็โดยโครงเรื่องนี่แหละที่นักเขียนจะร้อยเรียงวัตถุดิบทางประสบการณ์เข้าไว้ได้อย่างเป็นระเบียบงดงาม และวิธีการร้อยเรียงประสบการณ์นี่เองจะเป็นเครื่องชี้บอกได้อย่างชัดเจนว่า เราเข้าถึงประสบการณ์ที่มีความหมายควรค่าแก่การรับฟังอย่างไร โครงเรื่องจะช่วยให้ความสัมพันธ์อันเป็นเหตุเป็นผลเด่นชัด และบ่งบอกความสามารถของนักเขียนในการสร้างสรรค์ศิลปะในท้ายที่สุด”[2]

โครงเรื่องของ “บ้านทรายทอง” เป็นเรื่องราวของพจมานเด็กสาวผู้มีความหยิ่งในศักดิ์ศรีและชาติกำเนิดของตน แม้เธอจะเป็นเพียงแค่สามัญชนคนธรรมดา เธอจำเป็นต้องจากบ้านสวนต่างจังหวัดเดิน



            [1] ดาราวัลย์  เกษทอง. จากบ้านทรายทองถึงเคหาสน์สีแดง ใน โลกหนังสือ 4, 4(ม.ค.2524), หน้า 38-46.
[2] เพลินตา. โรงเรียนนักเขียน. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: บ้านหนังสือ, 2550. หน้า 18.

ทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนหนังสือต่อตามความประสงค์ของบิดาที่เขียนสั่งไว้ก่อนเสียชีวิตว่า ให้พจมานไปอาศัยอยู่กับครอบครัวหม่อมพรรณราย ซึ่งเป็นพี่สาวของพ่อที่บ้านทรายทอง

ณ บ้านทรายทองนี้เอง พจมานได้พบกับหม่อมพรรณราย ภาวิณีหรือหญิงเล็ก ภาระดีหรือหญิงใหญ่ และชายน้อย เด็กพิการง่อยเปลี้ยเสียขา บุคคลเหล่านี้ล้วนแต่เป็นเชื้อพระวงศ์ผู้สูงศักดิ์ที่เธอไม่คุ้นเคยมาก่อน พจมานถูกดูถูกเหยียดหยามต่างๆ นานา พวกเขาไม่เห็นเธอเป็นญาติ แต่ปฏิบัติต่อเธออย่างผู้อาศัยที่ต่ำต้อย ไร้เกียรติ

จนกระทั่ง ภราดาหรือชายกลาง เดินทางกลับมาจากต่างประเทศและรู้ความจริงจึงได้อาสารับเป็นผู้ปกครองให้พจมานแทนหญิงใหญ่ คอยดูแลความเป็นอยู่ในบ้าน ไปร่วมงานโรงเรียน อีกทั้งยังแนะนำพจมานกับใครต่อใครว่าเป็นน้องสาวอย่างไม่ปิดบัง สุดท้ายความดีงามของพจมานก็สามารถชนะใจชายกลาง และหญิงใหญ่ญาติผู้พี่ แล้วทั้งคู่ก็ได้แต่งงานกันในที่สุด

“บ้านทรายทอง” ซึ่งเป็นฉากหลักของเรื่องคือการจำลองโลกของ “ผู้ดี” ตามจินตนาการของผู้ประพันธ์นั่นเอง ในโลกนั้นมีทุกอย่างไม่ต่างจากโลกของคนธรรมดาสามัญ ไม่ว่าจะเป็นความเห็นแก่ตัว ความเสียสละ ความโหดร้าย ความเมตตากรุณา ความไร้ยางอาย ความรักเกียรติ และแน่นอน ความชังและความรัก เพียงแต่การแสดงออกระหว่างโลกทั้งสองอาจต่างกัน โลกของผู้ดีมีกฎกติกาการแสดงออกที่สลับซับซ้อนมากหน่อย ในขณะที่โลกของคนธรรมดาอาจแสดงออกอย่างตรงไปตรงมากว่า”[1]


(ภาพจาก : http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=539813)

ความสำเร็จที่เป็นหลักของภาพยนตร์ “บ้านทรายทอง” ซึ่งนำแสดงโดย จารุณี สุขสวัสดิ์ และพอเจตน์ แก่นเพชร กำกับโดยรุจน์  รณภพ ในปีพ.ศ. 2522 - 2523 จนกวาดรายได้ไปกว่า 20 ล้านบาท อยู่ตรงที่สามารถนำภาพการต่อสู้ระหว่าง “นางเอก” กับ “ผู้ร้าย” ซึ่งเป็นผู้หญิงด้วยกันในฉากเหตุการณ์สำคัญต่างๆมาปรากฏอย่างครบถ้วนและยังมีการเพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มฉากที่หนังสือไม่มีลงไปด้วยเช่น ให้พจมานถูกภาระดีพี่สาวพระเอกถูบ้านทั้งหลังแทนที่จะถูแค่ห้องนอนอย่างในหนังสือ พจมานจึงมีโอกาสเอาถังน้ำถูบ้านไปวางดักหม่อมพรรณรายซึ่งกำลังลงบันไดให้ก้าวตกลงไปในถังได้

นอกจากนี้ ในภาพยนตร์ยังมีการเพิ่มความรุนแรงของเรื่อง เช่น ฉากที่พจมานเผชิญหน้าภาวิณีครั้งแรกและเกิดการโต้เถียงกัน เพราะพจมานไม่ยอมนั่งกับพื้นตามคำสั่ง ภาวิณีบันดาลโทสะเข้ามาตบหน้า พจมานก็ตบโต้ตอบกลับไปเต็มที่

ฉากดังกล่าวในภาพยนตร์แตกต่างจากในนวนิยายที่ ก.สุรางคนางค์ ให้พจมานกระชากอกเสื้อภาวิณีเข้ามา แต่เมื่อได้สติจึงผลักเซไป ดังนี้

“ขาดคำพูด ภาวิณีก็ซัดเผียะเข้าที่แก้มอันขาวกลมนั้นเต็มกำลัง พจมานถลันลุกขึ้น ตาวาวเป็นประกาย แก้มขาวเป็นรอยนิ้วติดมือขึ้นมาทันที มือขวาขยุ้มเสื้อตรงอกกระชากเข้ามาโดยแรง และดูเหมือนจะใช้สติ กลับผลักออกไปให้ห่างจนเซ..”     



            [1] นิธิ  เอียวศรีวงศ์. บ้านทรายทอง, อ้างแล้ว.

        สำหรับ “บ้านทรายทอง” ในรูปแบบละครโทรทัศน์ นอกจากจะนำเสนอตอกย้ำภาพความรุนแรงและการทะเลาะวิวาท ตบตีกันระหว่างพจมานกับตัวละครฝ่ายปรปักษ์ซึ่งแตกต่างจากในนวนิยายแล้ว ยังมีการผูกเส้นเรื่องเพื่อนำเสนอประเด็นของความรักเป็นโครงเรื่องหลักเพื่อเร้าอารมณ์ให้ผู้ชมเกิดความสนุกสนาน น่าติดตาม โดยเพิ่มบทบาทของตัวละครอย่างพจนีย์ น้องสาวคนเล็กของพจมาน และนกุลเพื่อนชายคนสนิท เพื่อเป็นอุปสรรคความรักระหว่างพระเอกและนางเอก ทำให้เกิดปมปัญหาการชิงรักหักสวาทในเรื่องขึ้นอีกด้วย
3.        ตัวละคร
ตัวละครที่อยู่ในเรื่อง “บ้านทรายทอง” ไม่ว่าจะเป็นพจมาน ชายกลาง หม่อมพรรณราย หญิงใหญ่ หญิงเล็ก และชายน้อย ถือว่าเป็นองค์ประกอบของนวนิยายที่สำคัญและดึงดูดผู้อ่านได้มากที่สุด เนื่องจากผู้เขียนสามารถสร้างตัวละครให้มีลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่คล้ายมนุษย์ปุถุชนได้สมจริงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะกายภาพ ชนชั้นทางสังคม นิสัยใจคอ หรือการตัดสินใจ จึงทำให้นวนิยายเรื่องนี้สามารถดึงดูดผู้อ่านให้เกิดอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครได้มาก จนอาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จประการหนึ่งของนวนิยายเรื่องบ้านทรายทองคือการที่ผู้เขียนสามารถสร้างตัวละครให้ผู้อ่านเกิดการตอบสนองทางอารมณ์
แต่เมื่อตัวละครในเรื่อง “บ้านทรายทอง” มาปรากฏอยู่สื่อการแสดงประเภทอื่นๆ อย่างละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์หรือละครเวทีมักถูกทำให้กลายเป็น “ตัวละครแบบธรรมเนียม” (stock character) เพื่อให้ผู้ชมจดจำเรื่องราวได้ง่ายกล่าวคือ พระเอก ภาพหล่อ นิสัยดี มีเสน่ห์ กล้าหาญ มีคุณธรรม มีอุดมการณ์ ซื่อสัตย์สุจริต นางเอกมักมีคุณลักษณะดีพร้อม มีความสวย งดงาม น้ำใจดี มีอดทนต่อโชคชะตาและอุปสรรคขัดขวางต่างๆอย่างเหลือเชื่อ ส่วนตัวร้าย ก็จะมีความร้ายกาจแทบทุกด้านหาความดีไม่ได้เลย เป็นคนที่ตามขัดขวางพระเอกและนางเอกอยู่ตลอดเวลา
ถึงแม้ว่า ก.สุรางคนางค์ จะไม่ได้ให้ตัวละครชนชั้นสูงมีลักษณะนิสัยใจคอเหมือนกันไปหมดคือมีเพียงบางคนเท่านั้นที่ร้ายกาจจริงๆ เช่นเดียวกับตัวละครที่เป็นคนระดับล่างอย่างคนใช้ในบ้านก็มีดีเลวคละเคล้าปะปนกันไป แต่เป้าหมายหลักที่ ก.สุรางคนางค์ ต้องการนำเสนอคือกลุ่มคนชั้นสูงว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงในสังคมช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง
          ตัวละครที่มีการปรับเปลี่ยนลักษณะนิสัยตามสื่อการแสดงที่เปลี่ยนแปลงไป มีดังนี้ 
3.1   พจมาน
          สิ่งหนึ่งที่ผู้ชมการแสดงคาดหวังอย่างมากจากการหยิบยกนวนิยายเรื่อง “บ้านทรายทอง” มาสร้างเป็นวรรณกรรมเพื่อการแสดงอย่างละครโทรทัศน์ หรือภาพยนตร์ ก็คือบทบาท "พจมาน" นางเอกของเรื่อง ซึ่งคาดหวังว่าจะต้องตรงตามจินตนาการของผู้อ่านและผู้ชม      


( นางเอกของ “บ้านทรายทอง” คนแรกคือ สวลี ผกาพันธุ์
ภาพจาก : http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=offway&month=18-10-2008&group=12&gblog=6)
ดาราผู้แสดงเป็น "พจมาน พินิตนันทน์" นางเอกของ “บ้านทรายทอง” คนแรกคือ สวลี ผกาพันธุ์ เป็นละครเวทีดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ต่อมาเมื่อ ก.สุรางคนางค์ แต่งเรื่อง "พจมาน สว่างวงศ์" ซึ่งเป็นภาค 2 ต่อจาก “บ้านทรายทอง” ภาคแรก จบลงตรงที่ชายกลางแต่งงานกับพจมาน จึงได้มีการนำภาค 2 มาทำเป็นละครโทรทัศน์ซึ่งเวลานั้นเป็นยุคแรกๆ ของไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม ที่ยังออกอากาศเป็นขาว-ดำ นางเอกซึ่งรับบทเป็น "พจมาน สว่างวงศ์" ครั้งนั้นคือ พจนีย์ โปร่งมณี

จากนั้นก็ว่างเว้นไปนานพอสมควร จนความนิยมในละครเวทีเริ่มซาลง สวลี  ผกาพันธุ์ ก็หันไปโลดแล่นบนแผ่นฟิล์มอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะกลับมารับบท "พจมาน" อีกครั้งในละครโทรทัศน์ “บ้านทรายทอง” ซึ่งรวมเรื่องราวจากภาคหนึ่งและภาคสองเข้าไว้เป็นเรื่องเดียวกัน นับตั้งแต่นั้นการสร้างภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์เรื่อง “บ้านทรายทอง” ก็มักจะเป็นการรวมสองภาคเป็นเรื่องเดียวกันมาโดยตลอด
นางเอกเรื่อง "บ้านทรายทอง" คนต่อมาคือ เรวดี ศิริวิไล สร้างเป็นภาพยนตร์ฟิล์ม 16 มม. ตามด้วย อรัญญา นามวงศ์ อดีตรองนางสาวไทยปี พ.ศ. 2508 สร้างเป็นละครทางช่อง 4 บางขุนพรหมอีกครั้ง ถัดจากนั้นเป็น ศันสนีย์ สมานวรวงศ์ สร้างเป็นละครโทรทัศน์ทางไทยทีวีสีช่อง 9
นวนิยายเรื่อง “บ้านทรายทอง” ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้งโดยศรีบุญเรืองฟิล์ม โดยสร้างเป็น 35 มม. ผู้รับบทเป็นพจมานคือ จารุณี สุขสวัสดิ์ เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ปรากฏว่าทำรายได้ถึง 20 ล้านบาท หลังจากว่างเว้นไปอีกระยะหนึ่ง ทางช่อง 7 สี โดย บริษัท ดาราวีดีโอ ก็ได้วางตัว มนฤดี ยมาภัย รับบทพจมานลงจอแก้วอีกครั้ง จนกระทั่งมาถึงละครโทรทัศน์ครั้งหลังสุดของผู้ผลิตละคร วรายุฑ มิลินทจินดา ที่วางตัวให้ รินลณี ศรีเพ็ญ รับบทเป็นพจมาน ในละครยอดฮิตทางช่อง 3 ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

บุคลิกภาพของพจมานซึ่งเป็นนางเอกที่สวย กำพร้า ยากจนแต่องอาจนั้น น่าจะสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปัญหาและความคิดฝันของคนทั่วไป อันได้แก่การขาดที่พึ่ง ที่หวัง ไม่ร่ำรวย และต้องถูกเอารัดเอาเปรียบ คดโกง กดขี่ หรือถูกปฏิบัติอย่างอยุติธรรมไม่มากก็น้อย ซึ่งในความเป็นจริง คนเรามักไม่ค่อยกล้าตอบโต้ใดๆ ดังนั้น การมีบทบาทต่อสู้ผู้ร้ายอย่างจริงจังของพจมาน แม้จะมีพระเอกอย่างชายกลางมาช่วยบ่างก็ตาม จึงน่าจะเป็นที่จรรโลงใจอย่างมาก

เสน่ห์หรือความซับซ้อนของบุคลิกภาพพจมานอยู่ตรงที่เธอมิได้ยากจนธรรมดา แต่เป็นผู้ดีตกยากมีเงื่อนงำว่าจะได้เป็นทายาทมรดกสำคัญดังกล่าวด้วย พจมานจึงไม่เพียงสนองความต้องการของผู้อ่านและผู้ชมในแง่การตอบโต้อำนาจความเลวร้ายเท่านั้น แต่ยังเพิ่มความหวังที่จะก้าวพ้นฐานะผู้ตกอยู่ใต้อำนาจบีบคั้นทั้งหลายอีกด้วย

นอกเหนือจากความสวยงามด้วยรูปลักษณ์ภายนอกของพจมานแล้ว ความดีงามภายในจิตใจของพจมานที่ปรากฏแน่นอนไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ใดคือความสุจริต จริงใจ รักเกียรติ รักความเป็นธรรม ด้านพื้นฐานความเป็นมา เธอมีต้นตระกูลเป็นเจ้าพระยา ผู้สร้างบ้านทรายทอง มีปู่เป็นคนใฝ่
ความรู้และมีภูมิธรรม มีพ่อเป็นอดีตข้าหลวง ซึ่งเป็นนักปกครองเท่าๆกับเป็นสุภาพบุรุษทรงภูมิธรรมเหมือนปู่ พจมานเป็นลูกรักของพ่อ และพ่อมุ่งมั่นจะให้การอบรมศึกษาแก่เธออย่างสูงส่ง จริยธรรมต่างๆในบุคลิกภาพของพจมานนั้นมาจากการอบรมสั่งสอนของพ่อ สำหรับในด้านการศึกษาเธอก็เป็นนักเรียนโรงเรียนมาแตร์ เดอี ซึ่งถือว่าโก้ หรู ดีที่สุดสำหรับกุลธิดาสมัยนั้น

พจมานถือว่าเป็นคนที่โดดเด่นในหมู่เพื่อนฝูงเพราะความเป็นตัวของตัวเอง มีหลักการเหตุผลนอกเหนือไปจากการเป็นคนเก่ง ที่ทั้งเรียนเก่งและเล่นเปียโนเก่ง โลกของพจมานจึงมีแต่ความถูกต้องดีงามไม่เป็นรองใคร และไม่ต้องการให้ใครมาเป็นรอง เพราะอย่างน้อยเธอก็มีแม่เป็นลูกหลานชนชั้นล่างผู้เสงี่ยมเจียมตน

จากรายละเอียดแสดงบุคลิกภาพนางเอก สะท้อนให้เราเห็นความคิดฝันถึงคน ผู้หญิงสาวน้อยในอุดมคติของคนจำนวนมาก ในช่วงเวลาที่ ก.สุรางคนางค์ เขียนเรื่องนี้ออกเผยแพร่ ความจริงเรื่องราวของพจมานก็ไม่แตกต่างจากนิยายหรือเทพนิยายอย่าง ปลาบู่ทอง หรือซินเดอเรลลา แต่รายละเอียดต่างกันมากก็เพราะพจมานไม่ยอมแก่ตัวละครฝ่ายปรปักษ์เหมือนอย่างซินเดอเรลลา หรือนางเอื้อยในเรื่องปลาบู่ทอง

นอกจากนี้ พจมานเธอยังถือความเสมอภาค พร้อมเป็นมิตรกับผู้อ่อนแอ และชนชั้นล่างอยู่เสมอ แม้ว่าพจมานจะได้รับการศึกษาอบรมไม่ด้อยกว่ากุลธิดาชนชั้นหรูหรา และเป็นเชื้อสายตระกูลเก่าแก่มั่งคั่ง มีพ่อเป็นข้าหลวง แต่เนื่องจากฐานะเศรษฐกิจ ความคิด และพฤติกรรมที่แสดงออกต่างๆ ของพจมานปรากฏอย่างไม่มีชนชั้น เป็นเฉพาะนางเอก หรือผู้นำความรัก ความชื่นชมของคนส่วนใหญ่เท่านั้น

(สวลี  ผกาพันธ์ ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=jF3Y4eVCe2M)

สวลี  ผกาพันธ์ ผู้รับบทนางเอกเรื่อง “บ้านทรายทอง” เป็นคนแรก พูดถึงคาแรคเตอร์ของพจมานไว้ว่า “พจมานเขาก็ไม่ได้เย่อหยิ่งอะไรนักหนา เพียงแต่ว่าไม่ชอบให้ใครมาดูถูกพ่อเขา เป็นคนรักศักดิ์ศรี”[1]
(อรัญญา  นามวงศ์ภาพจาก : http://album.sanook.com/files/1783698)
อรัญญา  นามวงศ์ ผู้รับบทพจมานในละครโทรทัศน์ยุคช่อง 4 บางขุนพรหม กล่าวว่า
     “ทุกอย่างจะเป็นไปตามนวนิยาย ตัวเอกจะมีคาแรคเตอร์ตามที่บทประพันธ์บอกไว้ทุกอย่าง พจมานจะเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง แต่ไม่ใช่คนที่แข็งกระด้าง และรู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เขาจะมีความพอดีของเขาเอง ถึงแม้จะเป็นเด็กก็ตาม อายุของพจมานจะอยู่ประมาณ 17-18 ประมาณนี้ และก็ใกล้เคียงกับวัยของเรา ตอนนั้นอายุประมาณ 20 เพราะจะหาคนอายุขนาดเท่ากันมาเล่นเลยไม่มีหรอก หายาก ไม่เหมือนสมัยนี้ ส่วนมากพจมานจะถักเปีย 2 ข้าง ปล่อยผมก็มีบ้าง นุ่งกระโปรงสุ่ม แต่เวลาอยู่ปกติ พจมานจะใส่กางเกงขาสั้น เหมือนเด็กผู้หญิงทั่วไป ในวัยของเขา"[2]



               [1] “พจมานแห่งบ้านทรายทอง.”(ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก: http://oldforum.serithai.net/index.php?, 2553.
               [2] เรื่องเดียวกัน.     
(จารุณี    สุขสวัสดิ์ ภาพจาก : http://www.truelife.com/old/detail/3040312)

จารุณี    สุขสวัสดิ์ นางเอกแห่งภาพยนตร์ฟิล์ม 35 มม.เรื่อง “บ้านทรายทอง” กล่าวว่า
“ในยุคนั้นมันยังก้ำกึ่งกันระหว่างผู้หญิงต้องเรียบร้อยเป็นแม่ศรีเรือน เป็นช้างเท้าหลัง อ่อนหวาน มีมารยาทนำหน้า ไม่เป็นตัวของตัวเอง คือต้องว่านอนสอนง่ายจึงจะเป็นผู้หญิงที่ดี กับ ผู้หญิงยุคใหม่ ที่ผู้หญิงกล้าแสดงออกเป็นตัวของตัวเองพอจับมาทำก็ตรงอยู่กับช่วงอายุของเราก็เลยเข้าใจ”[1]



(รินลณี  ศรีเพ็ญภาพจาก : http://gossipstar.mthai.com/gossip-content/48871)


รินลณี  ศรีเพ็ญ ที่รับบทเป็นพจมานในละครโทรทัศน์ “บ้านทรายทอง” ครั้งล่าสุดได้พูดถึงคาแรกเตอร์ของพจมานที่เปลี่ยนแปลงไปว่า
"จริงๆ แล้วฟีดแบ็ค ก็มีทั้งดีและไม่ดี ในส่วนที่ไม่ดีก็คือ คนที่ไม่ชอบ เขาจะบอกกันว่า พจมานเวอร์ชั่นนี้ดูแข็งไปหรือเปล่า ดูก้าวร้าวไปไหม ทั้ง ๆ ที่ผู้จัดต้องการจะสร้างให้ดูแตกต่างจากเวอร์ชั่นอื่น ๆ แล้วก็เป็นเหมือนยุคใหม่ สู้คนมากขึ้น แต่ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่า ถ้ามีการสร้างขึ้นมาหลายครั้งเมื่อไร มันก็จะต้องเกิดการเปรียบเทียบละครที่นำมาสร้างใหม่ก็มักจะเจอกับปัญหาแบบนี้”[1]

การที่ รินลณี ศรีเพ็ญ รับบทเป็นพจมาน แล้วได้รับการวิพากษ์วิจารณ์กันไปหลายกระแส บ้างชื่นชอบว่าสะใจดี และ บ้างก็โจมตีว่าเป็นพจมานที่ออกจะเก่งกร้าวกว่าในนวนิยายนั้น นิธิ  เอียวศรีวงศ์ได้วิเคราะห์ไว้ว่า บทบาทของเธอดูจัดจ้านเกินกว่าพจมานในนวนิยาย ซึ่งก็ถือว่าจัดจ้านพอสมควรแล้วในยุคสมัยนั้น แต่ไม่สามารถดึงนางเอกละครให้ขึ้นไปถึงบุคลิกที่มุ่งมั่น สุภาพ มีเหตุผล และองอาจ หรือบางครั้งก็ดึงขึ้นมาเสียจนเกินเลยไป[3]

อย่างไรก็ตาม เอกลักษณ์ประการหนึ่งของผู้รับบทเป็นพจมานที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากในหนังสือนวนิยาย ก็คือภาพสาวน้อยถักผมเปีย 2 ข้าง หิ้วชะลอมและกระเป๋าเดินทางยืนอยู่หน้าบ้านหลังใหญ่ นับตั้งแต่พจมานคนแรกคือ สวลี ผกาพันธุ์ ในละครเวทีจนกระทั่งถึง รินลณี ศรีเพ็ญ ในละครโทรทัศน์ ก็ยังคงคาแรคเตอร์สาวน้อยผมเปียของพจมานเอาไว้

ก.สุรางคนางค์ได้บรรยายไว้ในนวนิยายนับตั้งแต่เธอก้าวเท้าเข้าไปยังบ้านทรายทองครั้งแรกว่า “มองที่ใบหน้า ผมเปียยาวที่ผูกห้อยอยู่บนบ่า...” และเพียรย้ำลักษณะดังกล่าวนี้อยู่บ่อยครั้ง เช่น “พจมานกัดริมฝีปากแน่น ใบหูที่ขาวสะอาดเปิดโล่ง เพราะผมตลบไปถักไว้เป็นเปีย แดงเรื่อๆตลอดไปจนผิวแก้ม...” จนกระทั่งถึงบทที่ 35 พจมานจึงได้เปลี่ยนทรงผมและลักษณะการแต่งกายให้ทันสมัยขึ้นจนภาระดีรู้สึกว่า “แปลกใจตั้งแต่ผมเปียซึ่งหายไปแล้ว เหลือแต่ผมดัดลอนขมวด การแต่งกายที่ทันสมัยชนิดที่ว่า เลิกกันทีไอ้เสื้อผ้ารุสต็อกของหญิงใหญ่ พจไม่รับประทาน เป็นกระโปรงและเสื้อทูพีซ ปากแดงเข้ม เล็บแดงสีเดียวกับปาก...”



         [1] เรื่องเดียวกัน.
         [2] เรื่องเดียวกัน.
         [3] นิธิ  เอียวศรีวงศ์. บ้านทรายทอง, อ้างแล้ว.

การติดคุณลักษณะของตัวละครดังกล่าวทำให้ไม่ว่าจะสร้าง “บ้านทรายทอง” ในสื่อการแสดงรูปแบบใดก็ตาม ยังต้องคงเอกลักษณ์ของพจมานที่ไว้ผมเปีย 2 ข้างอยู่เสมอตามความคาดหวังของผู้ชม

(ภาพจาก : http://topicstock.pantip.com/chalermthai/topicstock/2010/10/A9814491/A9814491.html)

ชายกลาง
บุคลิกภาพของภราดาตามนวนิยายคือเป็นคนแต่งกายประณีต สูบกล้อง ท่าโก้ขรึมเคร่งเป็นปกติวิสัย และออกจะเครียดง่าย แม้ว่าจะปรากฏอยู่ในรูปถ่ายก็ตาม ดังที่ ก.สุรางคนางค์บรรยายไว้ว่า
“เป็นภาพชายหนุ่มแต่งกายด้วยผ้าสักหลาดชุดสากล หนาเตอะ ยิ้มนิดๆ มีเค้าคมคายคล้ายภาระดี ผมหวีเรียบเป็นเงา ประกายตาเข้มแสดงว่าเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน...”

หากจะพิจารณาหาเหตุผลว่าทำไมชายกลางจึงมีลักษณะเคร่งเครียดมากเช่นนั้นก็จะพบเหตุผลอธิบายได้อย่างมาก เป็นต้นว่า อาจเป็นเพราะพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็กทำให้หลักประกันชีวิตคลอนแคลน
แม้จะมีตาก็ยังดูเหมือนว่าทำให้ความภาคภูมิใจในตัวเองของเขาลดน้อยลง ยิ่งกว่านั้นคือทำให้เกิดมีภาระปัญหาหลายประการซึ่งหากพ่ออยู่คงไม่เกิดขึ้นหรือตกแก่เขา เช่น ปัญหาภาระดี ปัญหาการดูแลสุขภาพของตา น้องชาย และสภาพบ้าน ปัญหาการควบคุมดูแลและจัดการครอบครัวเป็นต้น ทั้งนี้เพราะแม่ของเขามีความรับผิดชอบไม่พอ มีทัศนะไม่กว้างขวาง อันทำให้ตัวแม่เองก็เป็นปัญหากับเขา
นอกจากนี้ ภราดายังน่าจะมีหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบอย่างมาก ในเมื่อตามเรื่องเขาดูท่าประสบความสำเร็จสูงในการงาน คือตอนต้นๆเรื่อง เมื่อกลับจากต่างประเทศใหม่ๆ กล่าวว่าเขาอายุประมาณ 28-29 ปีและตอนใกล้จะจบซึ่งเวลาผ่านไปประมาณ 1 ปีเป็นอย่างมาก ได้กล่าวว่าเขากำลังจะได้เป็นอธิบดี จากนี้จะเห็นได้ว่าเป็นคนเจ้าอุดมการณ์ มีความรับผิดชอบสูง อยู่ในบ้านปัญหามากอย่างบ้านทรายทอง และหันหน้าไปพึ่งพาอาศัยปรึกษาหารือใครเต็มที่ไม่ได้ ก็น่าที่จะต้องเครียดมากอย่างเขา แต่เขาก็ยังรักเด็ก รักดนตรี แสดงให้เห็นถึงจิตใจละเอียดอ่อน
         ชายกลางถือเป็นตัวละครที่หลายคนมองว่าถูกสร้างให้เป็นพระเอกอย่างสมบูรณ์แบบ โดยไม่มีข้อบกพร่องอย่างตัวละครอื่นๆที่อาศัยอยู่ในบ้านทรายทอง แต่เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว กลับพบว่าตัวละครอย่างชายกลางคือภาพสะท้อนของผู้ชายไทยในยุคสมัยที่ยังยกย่องให้ผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัว (patriarchy) ขณะที่ผู้หญิงเปรียบเสมือนประชาชนชั้นสอง
เห็นได้ชัดว่าความวุ่นวายต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างพวกผู้หญิงในบ้านจบลงได้อย่างง่ายดายทันทีที่ชายกลางกลับมาจากเมืองนอก การตัดสินใจของเขาถือเป็นสิ่งที่เด็ดขาด ผู้อื่นไม่มีสิทธ์โต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น ทำได้แต่เพียงเชื่อฟัง ยึดถือและปฏิบัติตามโดยดุษณีเท่านั้น

ชายกลางมีทัศนะต่อผู้หญิงแบบชายไทยรุ่นเก่าซึ่งมองบทบาทของผู้หญิงว่ามีเพียงแค่การดูแลบ้านและครอบครัวให้มีความสุข ไม่ต้องสนใจเรื่องการบ้านการเมือง หรือข่าวสารใดๆ ดังตอนหนึ่งที่เขากล่าวกับหญิงเล็กว่า 
“มัวแต่สนใจเรื่องการเมือง เรื่องคอร์รัปชั่น เรื่องสังคม คนไหนซ้าย คนไหนขวา มันไม่ใช่ธุระของผู้หญิง ผู้หญิงควรดูแลให้คนในบ้านมีความสุข”

หากมองจากมุมมองปัจจุบันจะพบว่าชายกลางเป็นผู้ชายที่มีจิตใจคับแคบและกดขี่ผู้หญิงอยู่ไม่น้อยที่ใช้สิทธิ์เด็ดขาดตัดสินใจทุกเรื่องเพียงลำพังและการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของตัวละครเพศหญิง การใช้สิทธิ์เด็ดขาดตัดสินใจทุกเรื่องเพียงลำพัง และการแสดงความคิดเห็นในทำนองให้ผู้หญิงเป็นแค่กบอยู่ในกะลา อย่าอาจหาญเปิดกะลาออกมาดูโลก แม้เป็นความคิดเห็นธรรมดาของผู้ชายในสมัยเมื่อห้าสิบกว่าปีมาแล้วก็ตาม แต่เราจะพูดได้อย่างเต็มปากได้หรือ ว่านี่คือแบบฉบับของผู้ชายที่เป็นพระเอกอย่างแท้จริง

ดังนั้น ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์จึงพยายามเปลี่ยนแปลงบทบาทของชายกลางให้มี “ความเป็นสุภาพบุรุษ” มากขึ้น เช่น สุขุม อ่อนโยน มีเสน่ห์ ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น มีเหตุผล ให้เกียรติผู้หญิง ลดความเคร่งเครียด แข็งกร้าว เจ้าอารมณ์ และลดความเป็นเผด็จการลง ให้ดูเหมาะสมต่อการเป็นชายในอุดมคติมากขึ้น
3.2   ตัวละครฝ่ายปรปักษ์
          หากพิจารณาการต่อสู้ระหว่างนางเอกกับตัวละครฝ่ายปรปักษ์จะเห็นได้ว่าเป็นปมความขัดแย้งแตกต่างหรือช่องว่างระหว่างหลักการเหตุผลหรือความคิด ความเห็น อุดมการณ์ของคนก้าวหน้ารุ่นใหม่ในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองกับแบบแผนดั้งเดิมหรือความเสื่อมทรามโดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นนำ หรือชนชั้นสูง ชนชั้นหรูหรา อย่างที่คนส่วนใหญ่คิดเห็นหรือเชื่อว่ามีจริง เป็นจริง อันได้แก่ การมีความเป็นอยู่ตามระเบียบแบบแผน และพิธีรีตองซึ่งส่วนใหญ่อาศัยวาทกรรมวัฒนธรรมตะวันตกให้ดูพิเศษกว่าชาวบ้าน การขาดจริยธรรม หรือจริยธรรมไม่มีอำนาจยับยั้งการคิด การพูดการกระทำอย่างชั่วร้าย กักขฬะตามที่เขาต้องการได้ การมีใจแคบ ใจต่ำเป็นปกติวิสัย การกดขี่ข่มเหง เหยียบย่ำผู้ด้อยกว่าและเชื่อว่าชอบธรรมสำหรับพวกเขา การไม่มีความคิดที่ดีงามหรือเพื่อความดีงามเลย การใช้ชีวิตเปล่าประโยชน์ถือว่าโก้เก๋เป็นแบบอย่างผู้ดี

ยิ่งกว่านั้น ความเสื่อมทรามในชนชั้นสูงนี้มักอยู่ในตัวผู้มีพลังและบารมีอำนาจ เช่น พระยาราชาพิพิธ หม่อมพรรณราย และภาวิณี ซึ่งสามารถทำให้คนดีที่อ่อนแอหรือไร้โชค ผู้ขัดวิถีชีวิตหรือผลประโยชน์ของพวกเขาต้องพ่ายแพ้ยอมจำนนหรือถูกกำจัดได้ เช่น ภาระดี, สุรพล, พนา และอาจรวมถึงพจมานด้วยหากเธอไม่มีโชคหรือพระเอกเข้ามาช่วย สำหรับคนดีอย่างท่านผู้หญิงไฉไล หรือหม่อมเจ้าเอนกนพรัตน์, หม่อมเจ้านพมณี นั้นเป็นแบบประนีประนอมกับความชั่วร้ายได้[1]
สวลี  ผกาพันธ์ กล่าวถึงตัวละคร “หม่อมพรรณราย” ในเรื่องนี้ว่า



               [1] ดาราวัลย์  เกษทอง. จากบ้านทรายทองถึงเคหาสน์สีแดง, อ้างแล้ว.

"อย่างหม่อมพรรณราย นี่จริง ๆ แล้วเป็นผู้ดีมาก ค่อนข้างจะไว้ตัวเกินเหตุ แต่ก็ไม่ได้เป็นคนหยาบคาย หรือพจมานเขาก็ไม่ได้เย่อหยิ่งอะไรนักหนา เพียงแต่ว่าไม่ชอบให้ใครมาดูถูกพ่อเขา เป็นคนรักศักดิ์ศรี ใจจริง ๆ ที่เขาเข้าไปอยู่เนี่ย ก็เพราะตามคำบอกในจดหมายของพ่อ ซึ่งพ่อก็คิดเพียงแค่ว่า ไม่มีเงินจะให้ลูกไปอยู่โรงเรียนกินนอน เพราะว่าแพงเหลือเกิน ก็อยากจะอาศัยบ้านญาติที่ไหนสักแห่งอยู่ เพื่อไปโรงเรียนตามปกติ ไม่ได้รบกวนค่าเทอมอะไรทั้งสิ้น แต่ทีนี้คนที่รับจดหมาย คือหม่อมพรรณราย เป็นคนตีโพยตีพายเกินเหตุ เพราะรู้ความจริงมาโดยตลอด ว่าในพินัยกรรมพูดไว้ชัดเจนว่าบ้านทรายทองเป็นของพ่อพจมาน”[1]

ละครโทรทัศน์เรื่อง “บ้านทรายทอง” ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ในปีพ.ศ. 2543 มีบุคลิกของตัวละครฝ่ายปรปักษ์ที่ต้องการสื่อให้เห็นความเลวของ “ผู้ดี” ที่ไม่ต่างจากโลกของคนธรรมดาสามัญอย่างชัดเจน ดังที่ นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ได้วิจารณ์ ไว้ว่า
“ผมเดาเอาว่าผู้ทำละครคงต้องการขีดเส้นตาย คนเลวก็ให้เห็นความเลวจะจะ คนดีก็ให้เห็นความดีจะจะ จึงได้เลือกคุณญานี  จงวิสุทธิ์ มาแสดงเป็นหม่อมพรรณราย และนักแสดงอีกคน[2] (ที่ผมจำชื่อไม่ได้)  มาเป็นหญิงเล็ก ทั้งสองคนนี้เป็นนักแสดงที่แสด๊งแสดง คือไม่เคยสามารถกลืนบุคลิกตัวละครให้กลายเป็นธรรมชาติของตัวอย่างป้าจุ๊ หรือคุณดวงดาว  จารุจินดา และบังเอิญเธอทั้งคู่ก็ถนัดที่จะแสด๊งแสดงอยู่แต่บุคลิกเดียวอย่างนี้ คือตบกันเละ”[3]
ตัวละครอย่าง “หม่อมพรรณราย” และ “ภาวิณี” ตลอดจน “แม่เอม” บ่าวรับใช้ในละครโทรทัศน์ถือเป็น “ตัวละครแบบธรรมเนียม” (stock character) ที่มีความร้ายกาจแทบทุกด้าน หาความดีไม่ได้ จนเลยเถิดวิสัยของปุถุชน แตกต่างจากที่ ก.สุรางคนางค์ วางลักษณะนิสัยใจคอไว้ในนวนิยายอย่างสิ้นเชิง
4.        แนวเรื่อง (Genre)
       ความแตกต่างของแนวเรื่อง (Genre) สามารถมีผลกระทบต่อการเชื่อมโยงเนื้อหาระหว่างสื่อนวนิยายกับสื่อประเภทอื่นๆ นวนิยายเรื่องบ้านทรายทองของ ก.สุรางคนางค์ แม้ว่าจะถูกจัดเข้าประเภทนวนิยายหลีกหนีช่วงหลังยุครัฐนิยม แต่จะเห็นว่ามีแนวความคิดในเชิงวิพากษ์วิจารณ์สังคมชั้นสูงหรือพวกเจ้าขุนมูลนายซึ่งเคยมีชีวิตที่รุ่งเรืองในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และทัศนะเกี่ยวกับหลักปรัชญาของนักคิดชาวตะวันตกบางประการ อาทิ
“ปรัชญาของชีวิตของท่านนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลาย ใช่ว่าจะมีแนวทัศนะและอุดมคติเหมือนกันหมดทุกคนไปเมื่อไร บางท่านสอนให้เป็นคนเห็นแก่ตัวมากๆอย่าง นิทเช่ บางท่านสอนให้เกลียดความฟุ่มเฟือยหรูหรา หันหน้าเข้าสู่ป่าฟังภาษานกภาษากาอย่าง ทอโรบางท่านว่าอย่าวิตก



            [1] “พจมานแห่งบ้านทรายทอง.”(ออนไลน์), อ้างแล้ว.
            [2] นักแสดงหญิงที่รับบทเป็นหญิงเล็กคนที่ว่านี้คือ สกาวใจ  พูลสวัสดิ์
            [3] นิธิ  เอียวศรีวงศ์. บ้านทรายทอง, อ้างแล้ว.

กังวลอย่างใดกับชีวิต จงปล่อยไปตามบุญตามกรรม แต่บางท่านว่า หามิได้ จงรอบคอบและพิจารณาด้วยความสุขุม ก่อนจะก้าวเท้าเดิน ข้างหน้าอาจมีหลุม เราท่านจะหาอะไรแน่นอนจาก ปรัชญาของชีวิต’”       

การเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงพ.ศ. 2475 สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกลุ่มชนชั้นสูงในสังคมไทย เมื่อผนวกกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปิดฉากลงในปีพ.ศ. 2488 และทิ้งความเดือดร้อนไว้ให้กับชนทุกชั้น ก็ย่อมเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ความมั่นคั่งของชนชั้นสูงกลายเป็นเพียงอดีต แม้ไม่ถึงกับลำบากยากจนเหมือนคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ก็คงไม่ได้มีมากมายถึงขนาดที่ท่านเจ้าพระยาราชาพิพิธเคยเอาแก้วแหวนเงินทองใส่ทะนานตวงเล่นเพื่ออวดแขกในวังเหมือนแต่ก่อนได้อีก

พฤติกรรมผู้คน สภาพแวดล้อมต่างๆและข้อมูลบางประการที่ปรากฏในเนื้อหาซึ่งสะท้อนให้ได้รับรู้เกี่ยวกับลักษณะค่านิยม ปัญหาความเป็นอยู่ ระดับความเจริญของสังคมสมัยที่เขียนเรื่องได้ ตัวอย่างค่านิยมยกย่องคนร่ำรวย คนมีอำนาจหน้าที่อันสำคัญ แม้จะไม่ใช่พวกตระกูลเก่า และแม้จะโกงเขาอย่างบิดาศิรินาถ ปัญหาคอร์รัปชั่น ความฟุ้งเฟ้อในสังคม มิจฉาชีพ ความขัดแย้งระหว่างค่านิยมกับหลักการต่างๆ เช่นหลักการศีลธรรม ความเป็นอยู่เช่น แฟชั่นวัยรุ่นนิยมไว้เปีย ใส่เสื้อเชิ้ต กางเกงขาสั้น นุ่งกระโปรงตาสก็อต กรุงเทพฯยังมีสามล้อ นิยมไปพักผ่อนสุดสัปดาห์ที่บางปู คนหรูนิยมไปรับประทานอาหารที่ราชวงศ์ และให้ลูกสาวเรียนหนังสือที่มาแตร์ เดอี ผู้หญิงที่เรียนจบระดับมัธยมศึกษาก็ดูจะถือว่าเรียนมากพอสมควรที่จะประกอบอาชีพการงานหรือดำเนินชีวิตอย่างดีในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจบจากโรงเรียนดีๆเด่นๆ

สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ ถึงแม้ว่าการแต่งตัว ความคิด การกระทำของพจมานในเรื่องน่าจะอยู่ราวๆปี พ.ศ. 2493 ซึ่งถือเป็นเรื่องทันสมัยในขณะที่ ก.สุรางคนางค์แต่งนวนิยายเรื่อง “บ้านทรายทอง” ลงในนิตยสารรายปักษ์ “ปิยมิตร” แต่จากคำพูดและความคิดของภราดาในหลายๆครั้ง ชวนให้คิดว่าน่าจะเป็นคำพูดและความคิดของคนในช่วงสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เห็นได้ชัดว่าแรกเริ่มเดิมทีนั้นแนวเรื่องของ “บ้านทรายทอง” มิได้เป็นแนวย้อนยุคหรือพีเรียด (period) แต่อย่างใด แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป นวนิยายเรื่อง “บ้านทรายทอง” ก็ยังคงดำรงสถิตอยู่ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ มิได้ขยับผันแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและกาลเวลาที่ผ่านล่วงเลย จนกระทั่งกลายเป็นละครแนวย้อนยุคหรือพีเรียดไปโดยปริยาย

สวลี  ผกาพันธ์ ได้พูดถึงสาเหตุที่ยังต้องคงยุคสมัยของเรื่อง “บ้านทรายทอง” ให้เป็นพีเรียดนี้ว่า
“อย่าไปคิดว่าต้องทำเรื่องเก่าให้เป็นสมัยนี้ ในเมื่อเราเอาเรื่องเก่ามาเล่น ก็ควรจะทำให้เห็นว่ามันเป็นเรื่องเก่า เหมือนกับของสากล ที่ไม่จำเป็นจะต้องนำมาทำให้เป็นสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเสื้อผ้า ทรงผม ฉาก เพราะว่าของเก่ามันเก๋ออก[1]



               [1] “พจมานแห่งบ้านทรายทอง.”(ออนไลน์), อ้างแล้ว.

(นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=wH2GsBe_D4A)

นิธิ  เอียวศรีวงศ์ ได้พูดถึงความสำคัญของละครพีเรียดไว้ว่า
“เพราะละคร “พีเรียด” นั้นที่จริงแล้วคือบันทึกที่ละเอียดอ่อนของยุคสมัยซึ่งแสดงให้เห็นทั้งความเหมือนและความต่างของคนในสมัยอื่นกับตัวของเราเองในสมัยนี้ เพียงแต่เช่าบ้านเก่า ตัดเสื้อผ้าแฟชั่นเก่า และเช่ารถเก๋งเก่าๆมาให้ตัวละครขับ แล้วเรียกละครอย่างนี้ว่า “พีเรียด” ก็ดูจะตื้นอย่างน่าเวทนาเกินไป”[1]

แม้ว่านวนิยายเรื่องบ้านทรายทองของ ก.สุรางคนางค์ จะได้รับอิทธิพลและมีกลิ่นอายของเรื่องแนว Gothic story ของทางตะวันตกที่เน้นถึงความลึกลับของเคหะสถาน แต่เมื่อถูกดัดแปลงเป็นสื่อการแสดงอื่นๆอย่างละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือละครเวทีแล้ว แนวเรื่อง (Genre) ได้แปรเปลี่ยนเป็นละครแนวเริงรมย์ (melodrama[2]) หรือที่รู้จักกันในนามของ ““ละครน้ำเน่า[3] เสียมากกว่า

เมื่อเอ่ยถึง “ละครน้ำเน่า” หลายคนคงคิดถึงละครสูตรสำเร็จที่เน้นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกมากกว่าความสมจริงหรือความเป็นเหตุเป็นผล ละครน้ำเน่าหรือละครเริงรมย์ ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ราวทศวรรษที่ 1940 -1950 มีจุดประสงค์เพื่อนำคนดูเข้าไปสู่โลกของความคิดความฝันและจินตนาการ เป็นการหลีกหนีจากความจริงที่กำลังเผชิญอยู่โดยมีโครงเรื่องที่ซ้ำซากวนเวียนกับเรื่องรักๆใคร่ๆ จึงมักถูกให้คุณค่าในเชิงลบมากกว่าเชิงบวก
แต่การวางโครงเรื่องบ้านทรายทองของก.สุรางคนางค์ทำให้นวนิยายประเภทหลีกหนีกลายเป็นเวทีแห่งความบันเทิงที่โลกแห่งจินตนาการผสานกับโลกแห่งความเป็นจริงของมนุษย์เพื่อบอกเล่าเงื่อนไขและเป็นกลไกแห่งการระบายทางสังคม (social outlets) ในเรื่องความขัดแย้งระหว่างชนชั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งเมื่อนำมาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์หรือบทละครโทรทัศน์มีแนวเรื่องแบบละครน้ำเน่าหรือละครเริงรมย์ ทำให้มีเนื้อหาที่ไม่เครียดเกินไปและเน้นความบันเทิงเป็นหลัก กลิ่นอายความลึกลับของเรื่องแนว Gothic story และทํศนะแนวคิดปรัชญาบางประการจึงจางหายไป เหลือเพียงแต่ความเป็น melodrama รสจัดจ้านเท่านั้น
5.        ฉาก
       แม้ผู้อ่านจะรู้สึกว่า ก.สุรางคนางค์คงได้รับอิทธิพลในการสร้างฉาก “บ้านทรายทอง” มาจากนวนิยายต่างประเทศที่ได้รับความนิยมอยู่ในช่วงนั้นอย่าง “รีเบคกา” ของ ดัฟนี ดู มัวริเออร์ และ “วัทเตอริง ไฮ้ทส์” ของเอมิลี บรองเต นักเขียนชาวอังกฤษในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งต่างใช้ฉากบ้านเป็นสถานที่สำคัญของเรื่อง และประเด็นความขัดแย้งภายในบ้านเป็นโครงเรื่องหลักที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมใน



          [1] นิธิ  เอียวศรีวงศ์. บ้านทรายทอง, อ้างแล้ว.
          [2] ตามรูปศัพท์แปลว่าละครประกอบดนตรี กล่าวคือมักใช้เพลงประกอบเหตุการณ์ (incidental song)
          [3] ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า washboard weepies คือ “น้ำเน่าที่วนอยู่ในอ่าง” สันนิษฐานว่าผู้ที่นำคำว่า “น้ำเน่า” มาเผยแพร่ในไทยคือ อ.เจือ สตะเวทินซึ่งใช้เรียกนวนิยายที่มีเนื้อหาซ้ำซาก วนเวียน ไม่พัฒนา เป็นสูตรสำเร็จ 

ตอนท้ายเรื่องทั้งสิ้น[1] แต่การนำแนวทางของนวนิยายต่างประเทศมาใช้กับ “บ้านทรายทอง” ผู้เขียนก็ได้ปรับเปลี่ยนให้มีกลิ่นอายแบบไทยๆพร้อมกับสร้างเหตุการณ์และตัวละครที่สอดคล้องกับบริบทสังคมได้อย่างแนบเนียนจนประทับอยู่ในความทรงจำของผู้คนจนถึงปัจจุบัน
จากรายละเอียดแสดงความสำคัญของบ้านทรายทอง นอกจากสะท้อนความใฝ่ฝัน ชื่นชมอย่างหนึ่งของผู้คนคือสามารถก่อตั้งครอบครัว วงศ์ตระกูล ได้อย่างมั่นคงเหนือผู้อื่น ขนาดมีบ้านใหญ่โตไว้ประจำตระกูล ตลอดจนความปรารถนามีวัตถุเสริมฐานะให้เหนืออื่น ก็ยังมีส่วนช่วยสร้างความสนใจถึงวัฒนธรรมเกี่ยวกับบ้าน ที่อยู่ของคนไทยเราว่าเรารู้จักการมีบ้านอัครสถานขนาดนี้กันมานมนาน[2]

สถานที่สร้างฉากบ้านทรายทองในสมัยตามเรื่องคงประมาณราวต้นรัชกาลที่ 5 ในขณะนั้นพวกขุนนาง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ นิยมอยู่กันใกล้ๆที่ตั้งพระบรมมหาราชวัง เช่น แถบสองฝั่งคลองบางหลวง บ้านเกิดของ ก.สุรางคนางค์ ที่จินตนาการให้มีขุนนางผู้ใหญ่อย่างเจ้าพระยาราชาพิพิธ มาสร้างบ้านอยู่ไกลพระบรมมหาราชวังถึงแถบถนนวิทยุ ซึ่งติดต่อกับถนนเพลินจิต ฉากดังกล่าวทำให้บทประพันธ์เรื่องนี้ประทับใจคนไทยที่ชอบถวิลหาความหลังในอดีต (nostalgia) เมื่อครั้ง บ้านเมืองยังดีได้เสมอมา

บทการแสดงที่จัดทำขึ้นจะต้องสามารถแปรไปเป็นสภาพการแสดงได้จริงและได้สะดวก ดังนั้น ผู้จัดทำบทต้องระลึกอยู่ทุกขณะว่าฉากนาฏการกับฉากสถานที่มีความสัมพันธ์กัน วรรณกรรมบางเรื่องสร้างปัญหาแก่ผู้จัดทำบทเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อจะต้องแปรรูปวรรณกรรมเรื่องนั้นเป็นบทละครสำหรับจัดแสดงบนเวที ดังจะเห็นได้จากพระนิพนธ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคล ที่ทรงเล่าถึงความหนักพระทัยเมื่อแรกจะทรงแปรรูปวรรณกรรมเรื่อง “บ้านทรายทอง” ให้เป็นบทละครเวที ว่า

“ข้อที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจะสร้างเป็นละครไม่ได้ก็คือเรื่อง “ฉาก” เพราะว่าถ้าจะทำเรื่องนี้เป็นละครแล้ว อย่างน้อยจะต้องมี 20 ตอนและตอนหนึ่งๆล้วนเป็นเหตุการณ์ภายในห้องๆหนึ่งเท่านั้น ข้าพเจ้าจะต้องสร้างฉากห้อง 20 ห้อง เป็นต้น ข้าพเจ้าจึงระงับที่จะคิดทำเรื่องบ้านทรายทอง”[3]

อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถและความก้าวล้ำของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ผู้สร้างจึงสามารถ เนรมิตฉากสถานที่ต่างๆในตัวบทให้เป็นภาพที่ผู้ชมจะได้เห็นได้จริงและได้ง่ายตรงตามที่กำหนดไว้ในวรรณกรรมต้นเรื่อง
ในฉากแรกที่พจมานมาถึงบ้านทรายทอง ก.สุรางคนางค์พรรณนาให้เห็นภาพมุมต่างๆในอาณาเขตของบ้านซึ่งเต็มไปด้วยร่องรอยแห่งความทรุดโทรมไร้การดูแลรักษา และหลังจากวันนั้นไม่ว่าพจมาน



[1] สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์, บรรณาธิการ. ทางสายใหม่แห่งวรรณกรรมไทย: ทัศนะวิจารณ์ต่อนวนิยายยุคแรก. กรุงเทพฯ: ชมนาด, 2548. หน้า 272-273.
            [2] ดาราวัลย์  เกษทอง. จากบ้านทรายทองถึงเคหาสน์สีแดง, อ้างแล้ว.
[3] จักรกฤษณ์  ดวงพัสตรา. แปล แปลง และแปรรูปบทละคร, อ้างแล้ว.

จะเหยียบย่างไปยังจุดใดในบ้านทรายทองก็จะพบเจอกับความเสื่อมโทรมที่ซ่อนอยู่ตามมุมต่างๆทั่วไปหมด
  “บริเวณบ้านใหญ่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นปกคลุมมืดครึ้มอยู่ข้างหน้า ไกลลิบแลเห็นแต่ตึกด้านล่างอิฐสีแดงเก่าๆตะไคร่น้ำจับเขียว...”
“กรงนกใหญ่เก่าๆผุพัง เถาวัลย์ขึ้นรกอยู่ทางมุมบ้านโน้น สระใหญ่ทางขวามือตื้นและมีหญ้ากับผักตบขึ้นเต็ม...”

“ตึกร้างเก่ามาก หลังคาปูกระเบื้องแดง บนหลังคากาฝากขึ้นเขียวงดงาม ชำรุดทรุดโทรมขาดการบูรณะ...”
“พื้นกระดานที่ปูทอดเป็นสะพานลูกกรงค่อนข้างผุ น่ากลัวหักเข้าไปจนถึงประตูห้องที่เปิดแง้มไว้บานเดียว กลิ่นอับๆผสมกับกลิ่นควันธูปและขี้ค้างคาวพลุ่งออกมาจากบานประตูนั้น...”


( บ้านทราบทอง ภาพจาก : https://pantip.com/topic/34493825 )

          แต่สำหรับในละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือละครเวทีมักจะสร้างฉากบ้านทรายทองให้ออกมาในลักษณะสวยงามอันแสดงถึงความโอ่อ่า มั่งคั่ง หรูหราของบ้าน ภายนอกก็ใหญ่โตมโหฬาร มีสวนดอกไม้และน้ำพุประดับ ส่วนภายในก็ดูพิสดารคับคั่งด้วยเครื่องเรือน เครื่องประดับ ไม่ว่าเก้าอี้นวม โซฟา โต๊ะมุก ชุดหลุยส์ ม่าน หมอน พรม โคมไฟ ไซด์บอร์ด แจกันดอกไม้ เครื่องตั้งไว้ดูเล่น ฯลฯ ตัวละครเอกผู้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของบ้านก็แต่งตัวฟู่ฟ่า วางท่าเจ้ายศเจ้าอย่างเป็นผู้ลากมากดีกันอย่างเต็มที่เป็นต้น[1]

การเปลี่ยนแปลงของฉากบ้านทรายทองจากนวนิยายดังกล่าว อาจอธิบายได้ว่าเมื่อแปลงสื่อจาก นวนิยายมาเป็นละครหรือภาพยนตร์แนวเริงรมย์ที่ต้องใช้ภาษาภาพแล้ว จำเป็นต้องสร้างความเพริศแพร้ว ตระการตา (Exalt) เช่น การออกแบบเครื่องแต่งกาย สีสันบรรยากาศชวนชม แปลกใหม่ ฉากที่อยู่อาศัยโอ่โถง มั่งคั่ง หรูหรา เพื่อโน้มน้าวใจชวนให้ผู้ชมติดตามความสวยงามตระการตาของฉากนั่นเอง

6.        เพลงประกอบ
       องค์ประกอบหนึ่งของ “บ้านทรายทอง” ที่จะขาดเสียไม่ได้ และไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยคือเพลง “หากรู้สักนิด” หรือเพลง “บ้านทรายทอง” ซึ่งใช้ประกอบละครโทรทัศน์และภาพยนตร์เรื่อง“บ้านทรายทอง” มาทุกยุคทุกสมัยนับตั้งแต่ถูกสร้างเป็นละครเวทีที่ศาลาเฉลิมไทยเมื่อปี พ.ศ. 2494 
สวลี  ผกาพันธุ์ ผู้ขับร้องเพลง "หากรู้สักนิด" และเพลง "บ้านทรายทอง" ซึ่งเป็นเพลงประกอบละคร “บ้านทรายทอง” ยุคแรก กล่าวถึงที่มาของเพลง “หากรู้สักนิด” 

ว่า"เพลงหากรู้สักนิดนี่ ผู้แต่งทำนองคือ ม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์ เนื้อร้อง เสด็จพระองค์ชายใหญ่ (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล) ทรงนำข้อความในหน้าสุดท้ายของนวนิยายที่ว่า...หากฉันรู้สักนิดว่าเธอรักฉัน หากเธอจักบอกฉัน ให้รู้สักนิด เพียงแต่กระซิบเบา ๆ ว่า 'สุดที่รัก' ฉันก็มิอาจพรากไปจากเธอได้ จิตใจของเราทั้งสองก็จะไม่สลายชอกช้ำขมขื่นไปนานครัน หากฉันรู้สักนิด...ว่าเธอรักฉัน...มาแต่งเป็นเนื้อเพลง”

ในนวนิยาย “บ้านทรายทอง” ก.สุรางคนางค์กล่าวถึงที่มาของเพลงนี้ว่าเป็นโน้ตเพลงที่ชายกลางชอบเล่นเปียโนซึ่งเป็นทำนองเพลงรักที่เศร้าและทรมานหัวใจ ดังนี้
        “มันเป็นเพลงเก่าโบราณเพลงหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นคำไทยว่า หากฉันรู้สักนิดว่าเธอรักฉัน พจมานรู้สึกพอใจที่มันเพราะทั้งทำนองและเนื้อร้องที่มีความหมาย เธอจึงร้องคลอไปด้วยเบาๆ...”

สำหรับเพลง “บ้านทรายทอง” ที่ร้องขึ้นต้นว่า "นี่คือสถาน แห่งบ้านทรายทองที่ฉันปองมาสู่..." นั้นถูกแต่งขึ้นในภายหลัง ผู้ขับร้องคือ สวลี  ผกาพันธุ์ ซึ่งก็ได้ร้องอัดเป็นแผ่นเสียงไว้เช่นกัน แต่ไม่ได้ใช้ประกอบในเนื้อเรื่อง จุดประสงค์ที่แต่งเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อประกอบเวลาขึ้นไตเติ้ล เป็นการเล่าเนื้อความตามเรื่องละคร ไม่ใช่เพลงประกอบในละครอย่างเพลง “หากรู้สักนิด”
อรัญญา  นามวงศ์ ได้เล่าถึงการร้องเพลงประกอบในละครโทรทัศน์ “บ้านทรายทอง” ว่า
       “แต่ก่อนละครเขาก็จะมีเพลงประกอบช่วยให้มีบรรยากาศ และเพลงละครก็จะเป็นเพลงที่ร้องสดไม่ใช่มา 'มิกซ์ซาวด์' ใส่ จะมีเปียโนหรือดนตรี มาเล่นคลอไปกับละครที่เล่น เหมือนอย่างละครหน้าม่าน พอร้องเสร็จก็จะมีรับ เพลงบ้านทรายทอง ตอนที่เล่นก็ต้องร้องเองค่ะ ทั้งเพลงบ้านทรายทอง และ หากรู้ซักนิด เพราะเป็นเพลงหลักของเขา แล้วตัวอาฉลองเอง เป็นนักแสดงที่ร้องเพลงได้อยู่แล้ว อาฉลองจะร้องไตเติ้ลด้วย ร้องในฉากละครด้วย"
อย่างไรก็ตาม เพลง “หากรู้สักนิด” หรือเพลง “บ้านทรายทอง” ซึ่งใช้ประกอบละครโทรทัศน์และภาพยนตร์เรื่อง “บ้านทรายทอง” ก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ซึ่งไม่ว่าจะสร้างเป็นภาพยนตร์หรือละครครั้งใด ก็นิยมใช้เพลง 2 เพลงนี้ประกอบ ขณะเดียวกันก็กลายเป็นเพลงอมตะซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างดีไม่ว่ายุคสมัยใดก็ตาม



  [1] ดาราวัลย์  เกษทอง. จากบ้านทรายทองถึงเคหาสน์สีแดง, อ้างแล้ว. 


Cover llustration By Kamonwan Srichalongrat
Facebook : Kamonwan Srichalongrat

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น